อาเมทิสต์ (amethyst) หินเขี้ยวหนุมาน หรือพลอยสีดอกตะแบก จัดเป็นแร่ควอตซ์ชนิดหนึ่ง พบได้ตั้งแต่สีม่วงอ่อนไปจนถึงสีม่วงเข้ม สีซีดจางแบบสีดอกลาเวนเดอร์ไปจนถึงสีชมพู แต่สีที่มีราคาสูงมากเป็นสีม่วงเข้มอมแดง


สีม่วงสดใสของอาเมทิสต์เป็นจุดเด่นและทำให้อัญมณีชนิดนี้มีราคาสูงในหมู่ชาวกรีกมาตั้งแต่โบราณ การที่สีของมันเหมือนสีองุ่นจึงถูกเชื่อมโยงกับเทพแห่งไวน์ คือ ไดโอนีซุส (Dionysus) หรือ แบคคัส (Bacchus) ของชาวโรมัน คนโบราณเชื่อว่าเครื่องประดับทำด้วยอาเมทิสจะคุ้มครองผู้สวมใส่จากอาการเมาสุรา ซึ่งสอดคล้องกับชื่อในภาษากรีกของอัญมณีชนิดนี้ว่า อาเมทิสตอส (amethystos) ที่แปลว่า “ไม่เมา” นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าทำให้ผู้สวมใส่ตื่นตัว มีปัญญาหลักแหลม สมองไม่ตื้อหรือทึบตัน กล่าวกันว่าเลโอนาร์โด ดา วินชี ศิลปินคนสำคัญสวมอาเมทิสเป็นประจำเพราะเชื่อว่าช่วยเพิ่มความฉลาดและปกป้องเขาจากความคิดชั่วร้ายต่างๆ

ในอดีต แพรพรรณสีม่วงถือว่าเป็นของสำหรับจักรพรรดิหรือผู้สูงศักดิ์ เพราะเป็นสีที่ผสมและย้อมขึ้นได้ยาก สิ่งของที่มีสีม่วงจึงนับเป็นของหายากและราคาแพงไปด้วย บางยุคบางสมัยถือกันว่าสีม่วงเป็นสีของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ จึงมักพบในอัญมณีของราชสำนักและสิ่งของที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ถือว่าอาเมทิสต์มีพลังช่วยให้มีสมาธิแก่กล้า ซึ่งพบได้บ่อยในลูกประคำสำหรับสวดมนต์ของชาวทิเบต นอกจากนี้ในหลายวัฒนธรรม อาเมทิสต์ยังเกี่ยวข้องกับความสงบ สมดุลและความกล้าหาญ รวมทั้งมีสรรพคุณรักษาอาการนอนไม่หลับและระงับปวด
ตามแนวคิดพลังจักรวาล อาเมทิสต์ ถือเป็นอัญมณีที่มีพลังในการเยียวยารักษามากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยถือว่าอาเมทิสต์ประจำจักระที่ 7 หรือ สหัสธารจักระ (The Crown Chakra) ที่กลางกระหม่อม เปรียบเป็นมงกุฎดอกบัว เป็นศูนย์ควบคุมทุกจักระในร่างกาย เป็นสถานที่รับพลังแห่งจักรวาลและกระจายไปทั่วร่างกาย


อาเมทิสยังคงเป็นอัญมณีมีค่าและราคาสูงระดับเดียวกับมรกต แซฟไฟร์ และทับทิมจนถึงศตวรรษที่ 19 แต่เมื่อมีการพบแหล่งอาเมทิสต์ขนาดใหญ่ในบราซิล ทำให้มีอาเมทิสต์ออกสู่ตลาดมากขึ้น ราคาจึงลดลง ขณะเดียวกันก็ทำให้พบอาเมทิสต์ในเครื่องประดับต่างๆ มากขึ้นกว่าในอดีต โดยเฉพาะการนำไปทำหัวแหวนที่เรียกว่า cocktail rings ในศิลปะอลังการศิลป์ (Art Deco) และศิลปะย้อนยุค (Retro) รวมไปถึงการนำไปทำเครื่องประดับร่วมเพชรหรือไข่มุก



ด้วยค่าความแข็งตามมาตราความแข็งแร่ของโมส (Mohs scale of mineral hardness) อยู่ที่ 7 ทำให้อาเมทิสแข็งแกร่งพอจะทำเป็นหัวแหวนและเครื่องประดับสำหรับสวมใส่ประจำวัน แต่ต้องระวังรอยขีดข่วนจากวัสดุที่แข็งกว่าด้วย นอกจากนี้ อาเมทิสต์อาจถูกทำลายด้วยสารละลายที่เป็นกรดและด่างบางชนิด จึงไม่ควรสวมใส่ขณะใช้น้ำยาทำความสะอาดบ้านเรือน ส่วนการทำความสะอาดอาเมทิสต์ควรใช้เพียงน้ำสบู่อ่อนกับน้ำอุ่น ขณะที่การทำความสะอาดด้วยเครื่องอุลตราโซนิกถือว่ามีความปลอดภัยสูงกว่า แม้อาจเกิดรอยแตกในเนื้ออัญมณีได้ (ซึ่งพบได้น้อยมาก) แต่ห้ามทำความสะอาดด้วยไอน้ำร้อน

ข้อมูลทั่วไป
- จัดอยู่ในกลุ่มแร่ควอตซ์
- มีหลายสี ตั้งแต่สีม่วงอ่อนไปจนถึงสีม่วงเข้ม สีซีดจางแบบสีดอกลาเวนเดอร์ไปจนถึงสีชมพู แต่สีม่วงเข้มอมแดงราคาสูงที่สุด
- ค่าความแข็งตามมาตราความแข็งแร่ของโมส (Mohs scale of mineral hardness) อยู่ที่ 7 เหมาะสำหรับการสวมใส่เป็นประจำ
- แหล่งที่พบมากอยู่ในบราซิล โบลีเวีย อุรุกวัยและแซมเบีย รองลงไปได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย นามีเบีย มอร็อกโก รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ
- อเมทริน (ametrine) เป็นรัตนชาติในกลุ่มแร่ควอตซ์ สีม่วงปนเหลือง เกิดจากการผสมอาเมทิสต์กับซิทริน (citrine)

เรียบเรียง โดย ชัยจักร ทวยุทธานนท์
แหล่งข้อมูล
https://geology.com/gemstones/birthstones/#february
https://www.gemsociety.org/article/amethyst-jewelry-and-gemstone-information/