เรียบเรียง โดย ชัยจักร ทวยุทธานนท์
“ข้าเป็นคน…แต่ไม่มีใครปฏิบัติต่อข้าเหมือนเป็นคนเลย จะมีก็แต่สิงโตตัวนี้ ข้ากับมันรักกันเหมือนพี่น้อง”
นิทานเรื่องมิตรภาพของคนกับสิงโตเล่าขานมายาวนาน แม้รายละเอียดต่างไปบ้าง แต่แก่นแท้ของ “ความเป็นเพื่อน” ยังคงดำรงอยู่เรื่อยมา
ในกรุงโรม มีทาสยากจนคนหนึ่งนามว่าอันโดรคลุส (Androclus) หรือ อันโดรเคลส (Androcles) เขาต้องทำงานตรากตรำในบ้านของนายผู้โหดร้าย วันหนึ่งเขาคิดว่าไม่อาจทนต่อไปได้อีกแล้วและหลบหนีจากบ้านของนายผู้โหดเหี้ยมไปให้ไกลที่สุด
เขาซ่อนตัวอยู่ในป่าลึกหลายวัน หิวโหย อ่อนล้าและเริ่มเจ็บป่วย เขาคิดว่าตัวเองจะต้องตายลงแล้วแน่ๆ
วันหนึ่งเขาคลานเข้าไปในถ้ำ แล้วนอนลง ไม่นานก็หลับไป
สักพักก็มีเสียงดังขึ้นจนเขาสะดุ้งตื่น เขาเห็นสิงโตตัวใหญ่เข้ามาในถ้ำ มันคำรามดังลั่น อันโดรคลุสกลัวมาก เขารู้ว่าสัตว์ร้ายตัวนี้ต้องฆ่าเขาแน่ๆ แต่ตรงกันข้าม สิงโตไม่ได้แสดงท่าทางโกรธเกรี้ยว ท่าเดินเขยกของมันแสดงว่ามันบาดเจ็บ
อันโดรคลุสรวบรวมความกล้าค่อยๆ ขยับเข้าใกล้สิงโต ก่อนจะยกอุ้งเท้ามันขึ้นเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง สิงโตยังคงยืนอยู่ มันถูหัวขนาดใหญ่กับบ่าของชายหนุ่ม

อุ้งเท้าสิงโตมีหนามยาวแหลมคมปักแน่น มันทำให้สิงโตเจ็บปวดและเดินด้วยความยากลำบาก เขาใช้ปลายนิ้วจับและดึงหนามนั้นออก ต้องออกแรงทำด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้สิงโตเจ็บน้อยที่สุด ในที่สุดเขาก็ทำได้ สิงโตดูมีท่าทีผ่อนคลาย แววตาที่บ่งบอกความเจ็บปวดหายไปแล้ว มันกระโดดไปมาเหมือนสุนัขพร้อมเลียมือและเท้าเพื่อนใหม่
บัดนี้ ความกลัวของอันโดรคลุสหายไปแล้ว คืนนั้น เขากับสิงโตนอนหลับเคียงข้างกันในถ้ำ
สิงโตหาอาหารมาให้อันโดรคลุสเป็นประจำทุกวัน ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนสนิทกันในไม่ช้า อันโดรคลุสรู้สึกว่าชีวิตใหม่ที่ไม่ต้องเป็นทาสเช่นนี้ช่างมีความสุขเหลือเกิน
วันหนึ่ง มีทหารกลุ่มหนึ่งเดินเข้ามาในป่าก่อนจะพบอันโดรคลุสในถ้ำ พวกเขาสืบรู้ว่าชายคนนั้นคือใคร อยู่ที่ไหน
อันโดรคลุสจับตัวกลับไปยังกรุงโรม
กฎหมายโรมันระบุว่าทาสหนีนายทุกคนจะต้องถูกนำตัวไปสู้กับสิงโตที่ถูกขังให้หิวโซ
ผู้คนนับร้อยเบียดเสียดกันเพื่อเข้าดู “กีฬา” ในลานประลองของซีร์คุสมักซิมุส (Circus Maximus) สนามแข่งรถม้าและแหล่งบันเทิงที่ชาวโรมันโปรดปราน
ประตูเปิดออก อันโดรคลุสผู้น่าสงสารถูกนำตัวเข้ามายังลานต่อสู้ เขาเกือบตายด้วยความกลัว เสียงคำรามของสิงโตดังออกมาให้ได้ยิน ใบหน้าของผู้คนมากมายกำลังเฝ้ามองชะตากรรมของอันโดรคลุสจากบนอัฒจันทร์
สิงโตถูกปล่อยจากกรงขัง ด้วยความหิวโหย มันกระโจนเพียงครั้งเดียวก็ถึงตัวทาสหนุ่ม อันโดรคลุสร้องสุดเสียง ไม่ใช่เพราะความกลัว หากเป็นเสียงร้องด้วยความดีอกดีใจต่างหาก
สิงโตในถ้ำ เพื่อนเก่าของเขา นั่นเอง
ผู้คนแปลกใจเมื่อเห็นอันโดรคลุสโอบกอดสิงโตอย่างสนิทสนม และยิ่งแปลกใจมากขึ้นเมื่อสิงโตถูหัวของมันกับหน้าทาสหนุ่ม มันหมอบราบกับพื้นแลบลิ้นเลียเท้าเขา ไม่มีใครรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น

อันโดรคลุสเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทุกคนฟัง ความยากลำบากที่เขาได้รับจากการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนของนายทาส ความอดอยากหิวโหยที่เกิดขึ้นระหว่างการซ่อนตัวในป่าลึก การพบกันในถ้ำจนนำไปสู่มิตรภาพของทั้งคู่
“ข้าเป็นคน” เขาตะโกนก้อง “แต่ไม่มีใครปฏิบัติต่อข้าเหมือนเป็นคนเลย จะมีก็แต่สิงโตตัวนี้ ข้ากับมันรักกันเหมือนพี่น้อง”
“ไว้ชีวิตและเป็นอิสระ” เสียงบนอัฒจันทร์ค่อยดังกระหึ่มขึ้นช้าๆ ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแสดงผลออกมาแล้ว
“ปล่อยสิงโตไปด้วย ให้ทั้งคู่มีเสรี” อีกเสียงหนึ่งตะโกนขึ้นและขานรับกันเป็นทอดๆ
บัดนี้ อันโดรคลุสเป็นไทแก่ตัว เขาได้รับอนุญาตให้นำสิงโตมาอยู่ด้วย อันโดรคลุสได้รับเงินก้อนหนึ่งเป็นทุนในการเริ่มชีวิตใหม่ มีการนำพวงดอกไม้มาคล้องคอสิงโต กลีบดอกไม้โปรยปรายระหว่างทางที่ทั้งคู่เดินจากลานประลองแห่งนั้น
ไม่ว่าจะไปที่ไหน ผู้คนจะทักว่า “นั่น สิงโตเพื่อนคน แล้วก็นั่น คนที่ช่วยรักษาสิงโต”
ทั้งคู่ใช้ชีวิตในกรุงโรมต่อมาอีกหลายปี
บทส่งท้าย
นิทานเรื่องอันโดรคลุสกับสิงโตเล่าขานกันมาหลายร้อยปี มีเนื้อเรื่องต่างๆ กันไป เช่น อันโดรคลุสหลบหนีจากกงสุล (Consul) โรมันที่ปกครองแอฟริกา 3 ปีต่อมาเขาถูกจับส่งไปกรุงโรม จักรพรรดิคาลิกูลา (Caligula) เห็นใจในมิตรภาพของคนกับสิงโตจึงปล่อยเขาเป็นอิสระ เป็นต้น ขณะที่เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นที่มาของนิทานอีสปชื่อดังอย่าง “ราชสีห์กับหนู” หรือ “คนเลี้ยงแกะกับสิงโต” รวมถึงนิทานเรื่อง “ไอแวน อัศวินกับสิงโต” ในศตวรรษที่ 12 ซึ่งอัศวินตัวเอกของเรื่องได้ช่วยสิงโตที่ตกอยู่ในวงล้อมของงูพิษ สิงโตติดตามและช่วยเหลือเขาระหว่างผจญภัยไปในที่ต่างๆ เป็นต้น
จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ เขียนบทละครเรื่อง “อันโดรเคลสกับสิงโต” (Androcles and the Lion) ในปี 1912 เขาเขียนให้อันโดรเคลสตัวเอกของเรื่องเป็นช่างตัดเสื้อและเป็นหนึ่งในชาวคริสต์สมัยโรมันที่กวาดล้างและประหัตประหารด้วยการต่อสู้กับสิงโตหิวโหยในโคลอสเซอุม (Colosseum) หนึ่งใน “สิ่งบันเทิง” ของชาวโรมัน ละครเรื่องนี้ยังสอดแทรกคำสอนศาสนายูดาห์และค่านิยมแบบโรมันไว้ด้วย

ที่มาของข้อมูล
https://americanliterature.com/author/james-baldwin/short-story/androclus-and-the-lion
https://www.heritage-history.com/index.php?c=read&author=baldwin&book=fifty&story=androclus