มรกตจัดเป็นรัตนชาติสีเขียวเกิดจากธาตุโครเมียมและวานาเดียมจัดอยู่ในแร่ตระกูลเบริล (Beryl) ซึ่งเป็นแร่ที่มีหลายวาไรตี ได้แก่ แอความารีน (aquarmarine) มีสีฟ้า โกลเดนเบริลหรือเฮลิโอดอร์มีสีเหลือง สีแดงเรียกเร็ดเบริล สีชมพูเรียกว่ามอร์แกไนต์ คุณภาพของมรกตอยู่ที่สีหากมีสีเขียวทั่วทั้งเม็ดก็จัดว่าคุณภาพสูง มรกตธรรมชาติทุกชิ้นจะต้องมีตำหนิเป็นเส้น ริ้วสีขาว จุดสีดำ สีสนิม ฝ้าขาวขุ่นตามธรรมชาติ รอยริ้วที่ดูคล้ายรากผักชีเรียกว่า “จาร์ดิน” (jardin) ที่แปลว่า สวน

คำว่า Emerald ในภาษาอังกฤษมาจากภาษากรีกว่า smaragdus (σμάραγδος) แปลว่า หินเขียว จัดเป็นหนึ่งในสี่อัญมณีที่เรียกกันว่า ‘Big Four’ ซึ่งประกอบด้วย เพชร ทับทิม แซฟไฟร์ และ มรกต
มรกตมีมากมายหลายสีเช่นเดียวกับอะความารีนเพราะมีแร่ธาตุเจือปนอยู่ สีของมรกตมีได้ตั้งแต่เขียวอ่อน (ซึ่งบางคนเรียกว่า มรกตแท้ เพราะมีสิ่งเจือปนอยู่น้อย) สีเขียวอมเหลืองอ่อนๆ ไปจนถึงสีเขียวเข้ม มรกตจะแสดงสีออกมาได้ถูกต้องและเต็มที่ต้องอาศัยนักธรณีวิทยาและช่างเจียระไนที่มีความเชี่ยวชาญ
องค์ประกอบพื้นฐานในการจัดเกรดของมรกต ก็เช่นเดียวกับอัญมณีอื่นๆ คือ ต้องพิจารณาจากหลัก 4C คือ สี (color) ความใส (clarity) การเจียระไน (cut) และ น้ำหนักกะรัต (carat weight) ทั้งนี้ โดยทั่วไปสำหรับอัญมณีสีต่างๆ จะให้ความสำคัญกับสีเป็นอันดับแต่ แต่กรณีของมรกต สิ่งสำคัญในการจัดเกรดที่ถือว่าสำคัญพอๆ กับสีคือความใส

มรกตยิ่งมีสีเขียวมากเท่าไร ก็ย่อมมีมูลค่ามากเท่านั้น สีมรกตที่หายากที่สุดคือสีเขียวอมฟ้า

มรกตพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะที่โคลอมเบีย บราซิล อัฟกานิสถาน ปากีสถาน รัสเซีย อินเดีย ซิมบับเว แซมเบียและประเทศไทย

มีหลักฐานว่าชาวอียิปต์โบราณทำเหมืองมรกตมาตั้งแต่ราว 330 ปี ก.ค.ศ. แต่บางคนเชื่อว่ามนุษย์รู้จักนำมรกตมาใช้นับล้านปีมาแล้ว พระนางคลีโอพัตราหลงใหลมรกตมาก ตลอดช่วงรัชสมัยพระองค์ประกาศว่าทรงเป็นเจ้าของเหมืองมรกตทุกแห่งในอียิปต์
ชาวอียิปต์ใช้มรกตเป็นทั้งอัญมณีประดับร่างกายและใช้ตกแต่งหลุมศพ เชื่อกันว่าการฝังมรกตในหลุมศพของกษัตริย์หรือชนชั้นสูงมีพลังคุ้มครองป้องกันสิ่งชั่วร้าย ขณะที่ชนพื้นเมืองเผ่า Muzo ในโคลอมเบียมีเหมืองมรกตลับ ซึ่งกว่านักเดินทางสเปนจะค้นพบต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปี
ชาวอินเดียมีตำนานเรื่องมรกตที่เกิดขึ้นจากเลือดพญานาคระหว่างต่อสู้กับพญาครุฑ คนไทยเรียกว่า มรกตนาคสวาท เป็นอัญมณีหายากและไม่ค่อยมีคนรู้จัก สีเขียวเกือบดำ เชื่อว่าป้องกันงูพิษได้
ปัจจุบัน มรกตเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ จงรักภักดี การเริ่มต้นใหม่ สันติและความปลอดภัย จึงไม่เพียงเป็นอัญมณีที่งดงาม แต่ยังมีเป็นของขวัญที่เต็มไปด้วยความหมายแก่ผู้ได้รับ ผู้มีฐานะและคนดังในปัจจุบันล้วนสะสมมรกตงามๆ ไว้ไม่น้อย อย่างสร้อยมรกตของเอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ซึ่งริชาร์ด เบอร์ตัน นักแสดงชาวเวลส์ ซื้อให้เธอระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Cleopatra ในกรุงโรม น้ำหนัก 23.46 กะรัต เธอประดับเข็มกลัดนี้ในวันแต่งงานกับเบอร์ตันเมื่อปี 1964 ต่อมาในปี 2011 เข็มกลัดนี้ถูกขายให้กับบริษัทคริสตีส์ซึ่งเป็นบริษัทประมูลงานศิลปะชั้นนำของโลก เป็นเงิน 6.6 ล้านดอลลาร์ และยังครองความเป็นเครื่องประดับมรกตที่มีการประมูลด้วยราคาแพงที่สุดในโลก

แหล่งที่สำคัญมากและโด่งดังไปทั่วโลกคือ มรกตจากโคลอมเบีย ซึ่งได้รับการยกย่องว่างามที่สุดในโลกราคามักสูงกว่าแหล่งอื่น ๆ และถูกกล่าวอ้างถึงบ่อย ๆ มีเหมืองสำคัญซึ่งผลิตมรกตสีต่างกันคือ เหมืองชิบอร์ (Chivor) มีมรกตสีเขียวสดอมเหลือง และเหมืองมูโซ (Muzo) ให้มรกตสีเขียวอมฟ้าคล้ายสีของน้ำทะเล
อัญมณีมรกตสำคัญๆ ของโลก อย่างเช่น

- มรกตบาเฮีย (Bahia Emerald) พบที่บราซิลเมื่อปี 2001 น้ำหนัก 180,000 กะรัต ยังเป็นผลึกอยู่ในหิน ปัจจุบันอยู่ที่ลอสแอนเจลิส

- มรกตคาโรไลนาเอมเพอเรอ (Carolina Emperor) พบที่สหรัฐเมื่อปี 2009 น้ำหนัก 310 กะรัต (เจียระไนแล้วเหลือ 64.8 กะรัต) ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา รัฐนอร์ทคาโรไลนา

- มรกตชอล์ค (Chalk Emerald) พบที่โคลอมเบีย หนัก 38.40 กะรัต (เจียระไนซ้ำ เหลือน้ำหนัก 37.82 กะรัต) ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

- มรกตโมกุลมุกัล (Mogul Mughal Emerald) พบที่โคลอมเบียเมื่อปี 1695-1696 น้ำหนัก 217.80 กะรัต ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์

- มรกตร็อกกีเฟลเลอร์ (Rockefeller Emerald) พบที่โคลอมเบีย น้ำหนัก 18.04 กะรัต ปัจจุบันเป็นสมบัติส่วนบุคคล

- มรกตมิม (Mim Emerald) พบในโคลอมเบียเมื่อปี 2014 น้ำหนัก 1,390 กะรัต (ยังไม่เจียระไน) ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์มิม (Mim Museum) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน ที่กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน
การดูแลรักษาไม่ควรใส่ทำงานหนัก เพราะทนแรงกระแทกได้ไม่ดีนัก เนื่องจากมรกตมีความเปราะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี น้ำหอม และสเปรย์แต่งผม

เรียบเรียง โดย ชัยจักร ทวยุทธานนท์
เรียบเรียงจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Emerald
https://www.gemsociety.org/article/birthstone-chart/
https://geology.com/gemstones/emerald/
https://www.almanac.com/content/birthstones-and-their-meanings