ผ่านมาหลายพันปี ไคมีราหรือคิเมียรา อสูรในตำนานกรีกโบราณได้รับการกล่าวถึงอีกครั้ง ไม่เพียงในนิยายหรือภาพยนตร์ แต่ความเป็นลูกผสมของมันอาจช่วยอธิบายพันธุกรรมของไวรัสโควิดได้
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวในเว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษระบุว่านักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติว่าด้วยประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (MNHN) ของฝรั่งเศส ระบุถึงผลวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ว่าอาจเป็น “ไคมีรา” (Chimera) สิ่งมีชีวิตแบบเดียวกับสัตว์ประหลาดในเทพนิยายกรีก ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของเซลล์จากสัตว์ต่าง ๆ หลากหลายชนิด กรณีของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจเป็นการรวมตัวกันของพันธุกรรมจากไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวและตัวนิ่มก็เป็นได้
คิเมียราคือตัวอะไร
คิเมียรา (KHIMAIRA หรือ Chimera) หรือที่บางคนเรียกว่า ไคมีรา นั้น เป็นสัตว์ประหลาดลูกผสมในตำนานกรีกโบราณ มันพ่นไฟได้ มีส่วนหัวลำตัวและถึงเป็นสิงโต กลางหลังมีหัวแพะตัวเมียงอกขึ้นมาเช่นเดียวกับมีเต้านมของแพะที่ท้อง ส่วนบั้นท้ายเป็นขามังกรหรือหางงูพิษ ร่ำลือกันว่าคอยทำร้ายผู้คนในชนบทของแคว้นลีเคียหรือลีเซีย (Lycia) แถบคาบสมุทรอะนาโตเลีย เอกสารบางชิ้นเรียกมันว่า ไทรเคฟาลอส (trikephalos) หรือ ไทรโซมาตอส (trisômatos) ที่แปลว่า (สัตว์) สามหัว

ตำนานกล่าวว่า คิเมียราเป็นลูกของไทเฟอุส (Typhoeus) หรือไทฟอน (Typhon) กับ เอคิดนา (Ekhidna) มันเป็นพี่ชายของเซเบรุส (Cerberus) สุนัข 3 หัวที่เฝ้าทางเข้าปากประตูโลกใต้พิภพ ขณะที่ เวอร์จิล (Virgil) กวีสมัยโรมัน กล่าวว่าถึงอสูรประตูทางเข้านรกหรือออร์คุส (Orcus) ไว้ในมหากาพย์เอนีอิด หรือ อีเนียด (Aeneid) ว่าประกอบด้วยเซนทอร์ (Centaur) สัตว์ประหลาดครึ่งคนครึ่งม้า ซิลลา (Scylla) ที่มีท่อนบนเป็นหญิงงาม ท่อนล่างเป็นสุนัข 6 หัว บรีอาเรอุส (Briareus) อสูร 100 แขน50 หัว ไฮดราแห่งเลร์นา (Lernaean Hydra) อสูรรูปร่างเหมือนงูแต่มีหัวแยกออกไปหลายหัว กอร์กอน (Gorgon) อสูรหน้าตาหน้าเกลียดมีผมเป็นงู ฮาร์พี (Harpy) อสูรที่มีตัวเป็นมนุษย์ผู้หญิง มีปีกและท่อนล่างแบบนก เกอร์ยอน (Geryon) ยักษ์ 3 หัวนิสัยดุร้าย และคิเมียรา

ส่วนงานเขียนของโฮเมอร์ (Homer) กวีชาวกรีกกล่าวว่ากษัติรย์อามิโซดารุส (Amisodarus) แห่งคาเรีย (Caria) เป็นผู้สร้างคิเมียราที่ต่อมาทำให้เกิดหายนะแก่บ้านเมืองและผู้คนจำนวนมาก
คิเมียรามีลูกกับอสูรออร์โทร (Orthos) อสูรสุนัข 2 หัวมีหางเป็นงูซึ่งคอยเฝ้าฝูงปศุสัตว์ของยักษ์เกอร์ยอนบนเกาะเอรีเทีย (Erytheia) ด้วยกัน 2 ตัว คือ สฟิงซ์ (Sphinx) กับ สิงโตนีเมีย (Nemeian Lion)
เบลเลโรฟอนผู้ปราบคิเมียรา
ความดุร้ายและพิษสงของอสูรคิเมียราเป็นที่ร่ำลือจนทำให้กษัตริย์อิโอบาเตส (Iobates) ออกอุบายส่งเบลเลโรฟอน (Bellerophon) วีรบุรษในตำนานกรีกไปสังหารอสูรตัวนี้ พระองค์ซึ่งต้องการกำจัดเบลเลโรฟอนอยู่แล้วเชื่อว่าเบลเลโรฟอนไม่สามารถเอาชนะความร้ายกายของอสูรตนนี้ได้แน่ๆ
ด้านเทพีอะเธนาซึ่งรู้ว่าลำพังเบลเลโรฟอนไม่อาจเอาชนะอสูรคิเมียราได้แน่ จึงประทานม้าปีกเพกาซัสหรือเพกาซอส (Pegasos) ให้ ขณะที่บางตำนานก็ว่าเบลเลโรฟอนเข้าไปนอนในวิหารเทพีอะเธนาแล้วฝันว่าเทพีนำบังเหียนทองคำมาวางไว้ข้างตัวเขา เมื่อตื่นขึ้นก็พบตามที่ฝันจริงๆ เขาออกตามหาม้าปีกตามคำแนะนำของนักพยากรณ์นามว่าโพลีดิอุส (Polydius) กระทั่งพบมันกินน้ำอยู่ริมบึงจึงใช้บังเหียนทองคำคล้องคอจึงบังคับมันได้

เบลเลโรฟอนขี่ม้าปีกเพกาซัสเหาะไปในอากาศจนถึงที่อยู่ของคิเมียรา มันพ่นไฟร้อนแรงใส่เขา แต่ด้วยความคล่องแคล่วของเพกาซัสลมหายใจเพลิงของสัตว์ร้ายจึงไม่อาจทำอันตรายเขาได้
ทันใดนั้นเขาก็เกิดความคิดขึ้นมา เขานำก้อนตะกั่วผูกเข้ากับปลายทวนแล้วบังคับม้าปีกคู่ใจพุ่งเข้ามาคิเมียรา พยายามเข้าไปให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วหย่อนก้อนตะกั่วลงไปในคอสัตว์ร้าย
ตะกั่วเมื่อถูกความร้อนก็ละลายติดอยู่ในคอของคิเมียรา อสูรหายใจไม่ออก มันสำลักไฟตัวเองจนตาย

ส่วนนักเขียนยุคหลังเชื่อว่าคิเมียราเป็นอุปมาของภูเขาไฟในลีเซีย ชื่อภูเขาไฟคีเมียราใกล้เมือง Phaselis ใน ลีเซีย หรืออาจหมายถึงหุบเขาบริเวณภูเขาไฟใกล้ๆ เมือง Cragus

อสูรยอดนิยมตลอดกาล
ผมได้ยินชื่ออสูรตนนี้ครั้งแรกเมื่อราว 20 ปีมาแล้วจากหนังเรื่อง Mission: Impossible 2 ที่มีบริษัทผลิตยาสร้างไวรัสชื่อไคเมรา (ออกเสียงตามในหนัง) ขึ้นมาโดยหวังผลในการขายยาต้านไวรัสชื่อเบลเลโรฟอน จนพระเอกของเรื่องสามารถทลายแผนร้ายได้ทันก่อนที่ไวรัสมรณะนี้จะถูกปล่อยออกไปทั่วโลก
คิเมียราถือเป็นอสูรที่ค่อนข้าง popular พอๆ กับมังกร เมดูซาหรือสัตว์ประหลาดจากตำนานอีกหลายตัว เพราะมีการปรากฏตัวของคิเมียราในสื่อหลายชนิดทั้งการ์ตูน ซีรีส์ทางทีวี วีดิโอเกม นิยาย รวมถึงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง อย่างหนังแนววิทยาศาสตร์-สยองขวัญ เรื่องล่าสุด Chimera Strain ที่ออกฉายในสหรัฐเมื่อปี 2018 มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการช่วยลูกๆ ที่ป่วยด้วยโรคร้ายด้วยการตัดต่อพันธุกรรมของแมงกระพรุนอมตะ (Turritopsis dohrnii) ที่สามารถพัฒนาตัวเองย้อนกลับไปสู่วัยเด็กอีกครั้ง ก็น่าติดตามด้วยไม่น้อยเช่นกัน
ติดตามเรื่องราวน่าสนใจของ “เปิดตำนานอสูร” และเรื่องอื่นๆ ได้ที่เว็บ PASTORY
ถ้าชอบใจก็ช่วยแชร์ ช่วยคอมเมนต์ให้เป็นกำลังใจด้วยนะครับ
แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า สวัสดีครับ