จากจุดเริ่มต้นเมกะโปรเจคของนโปเลียนแต่มีอันต้องถูกพับไปกว่า 50 ปี กระทั่งเมื่อกว่า 150 ปีก่อน คลองสุเอซถือกำเนิดขึ้นในฐานะเส้นทางสำคัญที่ช่วยย่นระยะทางและเวลาในการขนส่งทางเรือมาจนกระทั่งปัจจุบัน
เมื่อมีข่าวเรือบรรทุกตู้สินค้าขนาดยักษ์เกยตื้นขวางกลางคลองจนทำให้เกิดความวุ่นวายอย่างหนัก และยังสร้างความยากลำบากในการเคลื่อนย้ายเรือซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ข่าวนี้ทำให้หลายคนหันมาสนใจว่า คลองสุเอซ คืออะไร ตั้งอยู่ที่ไหน และเหตุใดจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากมายนัก
วันนี้ pastory.co มีเรื่องราวของคลองสุเอซมาฝากกันครับ
คลองสุเอซ (Suez Canal) เป็นคลองที่มนุษย์สร้างขึ้นตั้งอยู่ในเขตประเทศอียิปต์ เชื่อมต่อพอร์ตซาอิด (Port Said) ในฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับกับเมืองสุเอซ (Suez) บนฝั่งทะเลแดง เข้าด้วยกันผ่านช่องแคบสุเอซ คลองนี้มีความยาว 183 กิโลเตร รองรับเรือยาว 500 ม. กว้าง 70 ม. ลึก 70 ม. ไม่มีประตูกั้นน้ำเพราะทะเลทั้ง 2 แห่งมีระดับเดียวกัน

คลองแห่งนี้เริ่มก่อสร้างในปี 1859 ในครั้งแรกเป็นการขุดด้วยมือ โดยใช้การเกณฑ์แรงงาน คนงานมีเพียงเสียมกับพลั่วเท่านั้น ต่อมาจึงมีการนำเรือขุดและเครื่องมือพลังไอน้ำมาใช้ทุ่นแรง ทว่า การประท้วงหยุดงานและการระบาดของอหิวาตกโรคทำให้การขุดคลองล่าช้าออกไปกว่ากำหนดถึง 4 ปี โดยไปแล้วเสร็จในปี 1869 และเปิดให้มีการเดินเรือได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน
เหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้คลองสุเอซมีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดเชื่อมสำคัญในการค้าระดับโลกเนื่องจากเป็นเส้นทางลัดระหว่างยุโรปและเอเชีย ช่วยย่นระยะทางและเวลาให้สั้นลงมาก โดยเรือไม่ต้องไปอ้อมแหลมกู๊ดโอปที่ปลายสุดของทวีปแอฟริกาอย่างที่เคยทำมาหลายร้อยปี นอกจากนี้ก่อนการสร้างคลองสุเอซ เรือสินค้าจะใช้การขนถ่ายสินค้าทางบกระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดงอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อมีคลองนี้ นอกจากจะช่วยให้ประหยัดเวลาแล้ว ยังทำให้การคมนาคมขนส่งสะดวกมากยิ่งขึ้น อีกด้วย


ข้อมูลที่น่าสนใจ
- ปัจจุบัน คลองสุเอซรับเรือที่มีน้ำหนักขนส่งได้มากถึง 150,000 ตัน ความกว้างของเรือที่สามารถผ่านได้คือไม่เกิน 16 เมตร
- การขนส่งตั้งแต่ต้นคลองจนถึงจุดสิ้นสุดคลอง ใช้เวลาประมาณ 11-16 ชั่วโมง
- ในปี 2010 มีแนวทางการขยายให้รองรับเรือที่กว้างถึง 22 เมตรได้ หากเรือที่มีขนาดหน้ากว้างเกิน 16 เมตร ต้องขนถ่ายสินค้าโดยใช้เรือเล็กขนส่งจากต้นคลองไปยังสู่จุดสิ้นสุดของคลอง
- แต่ละปีมีเรือผ่านเข้าออกคลองสุเอซประมาณ 25,000 ลำ การขนถ่ายสินค้าคิดเป็น14% ของการขนส่งทางเรือทั่วโลก
เหตุการณ์สำคัญของคลองสุเอซ
- ประมาณ ปี 1799 นโปเลียน โบนาปาร์ต พิชิตอียิปต์และสั่งให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง แต่เพราะการคำนวณที่ผิดพลาดและประมาณการค่าใช้จ่ายสูง โครงการนี้จึงถูกระงับไป
- ปี 1847 มีการสำรวจครั้งที่ 2 พบว่าการคำนวณที่เคยทำมาคลาดเคลื่อน และสรุปว่าการเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง สามารถทำได้และไม่ต้องใช้งบประมาณมากอย่างที่เคยเสนอไว้
- 30 พฤศจิกายน 1854 Ferdinand Marie de Lesseps อดีตกงสุลฝรั่งเศสในไคโร ได้รับอนุมัติให้ขุดคลอง
- 15 ธันวาคม 1858 de Lesseps ตั้งบริษัท Suez Canal Company ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส
- 24 เมษายน 1859 การก่อสร้างอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้น
- 15-17 พฤศจิกายน 1869 พิธีฉลองคลองสุเอซโดยสมเด็จพระจักรพรรดินีเออเฌนี เดอ มอนตีโค พระชายาในสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส โดยเปิดใช้คลองอย่างเป็นทางในการวันที่ 17 พ.ย. ปีเดียวกัน


- 31 ตุลาคม 1956 การปิดคลองสุเอซในวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน 1956 โดยอิสราเอลบุกยึดครองอียิปต์ ตามมาด้วยอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อควบคุมด้านตะวันตกของคลองสุเอซ และถอดถอนประธานาธิบดี ญะมาล อับดุลนาศิร แห่งอียิปต์ ที่ผลักดันให้คลองแห่งนั้นเป็นรัฐ
- 22 ธันวาคม 1956 คลองสุเอซกลับมาเปิดอีกครั้ง ภายใต้การควบคุมของอียิปต์ ขณะที่ฝรั่งเศสและอังกฤษถอนตัวออกไป ทั้งนี้ มีจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพแห่งกองกำลังฉุกเฉินของสหประชาชาติ (UNEF) ขึ้นที่บริเวณชายแดนอียิปต์-อิสราเอล
- 5 มิถุนายน 1967 – 10 มิถุนายน 1975 อียิปต์ปิดคลองสุเอซอีกครั้ง พร้อมเปิดสงครามกับอิสราเอล
- ปี 2004 ปิดคลองสุเอซ 3 วัน เมื่อเรือบรรทุกน้ำมัน Tropic Brilliance ประสบอุบัติเหตุ
- 6 สิงหาคม 2015 เปิดใช้ส่วนขยายของคลองสุเอซ
- เดือนตุลาคม 2017 เรือ OOCL Japan ประสบอุบัติเหตุขวางคลองอยู่นานหลายชั่วโมง
- 23 มีนาคม 2021 เรือ Ever Given จากไต้หวัน ถือธงปานามา ประสบเหตุเกยตื้นขวางบริเวณตอนใต้ของคลองสุเอซ ขวางการเดินเรือทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ และอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า มีเรืออย่างน้อย 185 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเรือขนส่งสินค้าเทกอง เรือคาร์โก เรือบรรทุกน้ำมันและเรือลำเลียงสารเคมี ยังคงจอดรออยู่ที่ปากทางเข้าสู่คลองสุเอซ ด้วยความหวังว่าจะสามารถเดินทางผ่านได้ในอีกไม่ช้า
ในขณะที่บริษัทขนส่งสินค้าทางเรือหลายแห่ง เริ่มพิจารณาเส้นทางอื่นเพื่อให้สินค้าส่งไปถึงปลายทางรวมถึงการอ้อมแหลมกู๊ดโฮปเหมือนเมื่อหลายร้อยปีก่อน ซึ่งจะทำให้การเดินเรือต้องเพิ่มเวลาขึ้นไปอีก 2 สัปดาห์
เรียบเรียง โดย ชัยจักร ทวยุทธานนท์
แหล่งข้อมูล
https://www.history.com/topics/cold-war/suez-crisis
https://www.history.com/this-day-in-history/suez-canal-opens
https://edition.cnn.com/2021/03/24/middleeast/suez-canal-container-ship-intl-hnk/index.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Suez_Canal
https://www.suezcanal.gov.eg/English/About/SuezCanal/Pages/CanalHistory.aspx